News
วิเคราะห์: สหรัฐฯ ไฟเขียว ATACMS ให้ยูเครน เพียงพอที่จะจบสงครามกับรัสเซียหรือไม่? เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เอพีอ้างแหล่งข่าวบอกว่าสหรัฐฯ ไฟเขียวให้ยูเครนใช้อาวุธระยะไกลที่ส่งไปให้ ยิงเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ซึ่งอาวุธที่ได้รับการจับตามองก็คือขีปนาวุธ ATACMS ATACMS ย่อมาจาก Army Tactical Missile System เป็นระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบกสหรัฐฯ ผลิตโดยบริษัทล็อคฮีด มาร์ติน มีวิถีโจมตีเป้าหมายได้สูงสุดที่เกือบ 300 กม. นำร่องด้วยระบบจีพีเอส และมีความรวดเร็วกว่าขีปนาวุธอื่น ๆ ในสมรภูมิทั่วโลก รวมถึงขีปนาวุธ Storm Shadow และขีปนาวุธ KH-101 ของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ATACMS รุ่นที่สหรัฐฯ ส่งให้ยูเครนใช้ เป็นขีปนาวุธรุ่นเก่าที่มีพิสัยทำการที่ราว 170 กม. อ้างอิงตามข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวล่าสุดถือเป็นการขยับตามที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนร้องขอมายาวนาน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คู่สงครามยกระดับการโจมตี และรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันเหลืออำนาจอีกเพียงสองเดือน นักวิเคราะห์หลายรายให้ข้อมูลกับ VOA ว่าการตัดสินใจล่าสุดของรัฐบาลวอชิงตันถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามที่ดำเนินมาเข้าปีที่สาม แต่ก็ฉายภาพถึงความไม่แน่นอนในแง่ของแรงกระเพื่อมที่จะตามมานับจากนี้ แอนดรีย์ ซาโกรอดนุก อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของยูเครน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล มองว่าการตัดสินใจของรัฐบาลไบเดนนั้นล่าช้าเพราะต้องระวังว่าจะไปยั่วยุรัสเซีย เขากล่าวว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มุ่งเน้นการตอบสนองต่อการยั่วยุของกรุงมอสโกมากไปกว่าการมีแผนการรอบด้าน “ไม่ได้นำเราเข้าใกล้การคลี่คลายสงคราม และยิ่งทำให้รัสเซียสามารถยกระดับได้มากขึ้น” มาร์ค วอยเจอร์ ประธานหลักสูตรการจัดการระดับโลก มหาวิทยาลัยอเมริกันที่กรุงเคียฟ มองว่า ATACMS มีความสำคัญในด้านจิตวิทยาและปฏิบัติการทางทหาร เพราะพิสัยทำการสามารถยิงไปยังศูนย์บัญชาการ คลังยุทธปัจจัย หรือกองทัพเกาหลีเหนือที่มาช่วยรัสเซียรบได้ อย่างไรก็ตาม วอยเจอร์มองว่า “การตัดสินใจนี้ควรเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ เพื่อรักษาชีวิตและให้ยูเครนมีเครื่องมือที่ดีในสนามรบ” รัฐบาลกรุงมอสโกเตือนสหรัฐฯ ให้ระวังถึงผลที่จะตามมา หากมีการอนุญาตให้ยูเครนตัดสินใจใช้อาวุธพิสัยไกลตามการรายงานจริง ดิมิทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวกับสื่อในประเทศว่า “หากการตัดสินใจนี้มีขึ้นจริงและมีการรายงานไปยังเคียฟจริง นี่คือความตึงเครียดรอบใหม่ และสถานการณ์ใหม่ในแง่ของการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในความขัดแย้งนี้” การเปลี่ยนรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้า กลายเป็นปัจจัยที่กรุงเคียฟกังวลว่ายูเครนอาจสูญเสียผู้สนับสนุนทางการทหารรายหลัก สืบเนื่องจากการที่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สัญญาว่าจะจบสงครามนี้โดยเร็ว แต่ยังไม่ลงรายละเอียดที่ชัดเจนในทางยุทธศาสตร์ วอยเจอร์กล่าวว่าการตัดสินใจของไบเดนครั้งนี้อาจบ่งชี้ถึงความกังวล ที่ต้องการสถาปนาการสนับสนุนยูเครนให้เรียบร้อยก่อนการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง วอยเจอร์กล่าวว่า “หากรัฐบาลใหม่ถอนความช่วยเหลือทางทหาร หรือจำกัดการโจมตีของยูเครน ก็อาจทำให้จุดยืนของยูเครนอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในสนามรบและบนโต๊ะเจรจา” อดีต รมว.กลาโหม ซาโกรอดนุกกล่าวว่าหนทางเดียวที่จะบีบให้วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มานั่งโต๊ะเจรจาอย่างจริงจังได้คือการทำให้เขาตกอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงที่จะทั้งสูญเสียอำนาจและพ่ายแพ้ในสนามรบ และในการบรรลุเป้าหมายนี้ พันธมิตรนาโต้และสหรัฐฯ ต้องสนับสนุนยูเครนในการสู้กลับ “ยูเครนสามารถทำปฏิบัติการรุกกลับอย่างสำเร็จ (ที่) จะทำให้ปูตินอยู่ในสถานการณ์ที่เขาเข้าใจว่า หากไม่หยุดสงคราม เขาอาจจะแพ้อย่างใหญ่หลวง และนั่นอาจส่งผลกระทบต่อระบอบและอำนาจของเขา” ซาโกรอดนุกอธิบายฉากทรรศน์ดังกล่าว ที่มา: วีโอเอ |